head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)  (อ่าน 33 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 235
  • ผู้ผลิตขายส่ง โพสฟรี SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)

Bacterial Vaginosis หรือภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นอาการอักเสบในช่องคลอด ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน และมีตกขาวผิดปกติ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย แต่มักพบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีช่วงอายุ 15-49 ปี 


อาการของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ผู้หญิงบางคนที่มีภาวะ Bacterial Vaginosis อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีตกขาวผิดปกติ ซึ่งอาจมีตกขาวสีเขียว สีเทา หรือสีขาวที่มีลักษณะเป็นน้ำ เป็นฟอง หรือเป็นแผ่น ระคายเคืองหรือคันบริเวณช่องคลอด แสบร้อนเวลาปัสสาวะ มีกลิ่นเหม็นคาวปลา ซึ่งจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังร่วมเพศ เป็นต้น โดยอาการ Bacterial Vaginosis อาจคล้ายกับอาการติดเชื้อราในช่องคลอดหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

    มีลักษณะตกขาวเปลี่ยนไปร่วมกับมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือมีไข้
    มีการติดเชื้อที่ช่องคลอดอยู่ก่อนหน้า แต่ตกขาวมีสีและลักษณะเปลี่ยนไป 
    มีคู่นอนหลายคนหรือเพิ่งเปลี่ยนคู่นอนใหม่แล้วมีสัญญาณและอาการของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกับอาการ Bacterial Vaginosis
    ใช้ยารักษาการติดเชื้อราที่ช่องคลอดด้วยตนเอง แต่อาการยังไม่หายไป


สาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

โดยทั่วไปในช่องคลอดจะมีทั้งแบคทีเรียชนิดที่ดีอย่างแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) และชนิดที่ไม่ดีอย่างแอนแอโรบส์ (Anaerobes) ซึ่งหากมีแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีมากจนเกินไปจะทำให้ปริมาณแบคทีเรียภายในช่องคลอดเสียสมดุลและเกิดภาวะ Bacterial Vaginosis ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะ Bacterial Vaginosis ได้ เช่น การสูบบุหรี่ การสวนล้างช่องคลอด การใส่ห่วงคุมกำเนิด โดยเฉพาะในสตรีที่มีประจำเดือนกะปริดกะปรอยร่วมด้วย การตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด Bacterial Vaginosis มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ การร่วมเพศกับคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนใหม่ และการไม่สวมถุงยางอนามัยหรือไม่ใช้แผ่นยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น


การวินิจฉัยภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ในการวินิจฉัย Bacterial Vaginosis แพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยผู้ป่วยห้ามทำความสะอาดหรือใช้สเปรย์พ่นช่องคลอดก่อนรับการตรวจ เพราะอาจไปดับกลิ่นที่ช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ และอาจเกิดอาการระคายเคืองตามมาได้ นอกจากนี้ ควรนัดวันไปพบแพทย์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือนด้วย


เมื่อไปพบแพทย์ อาจมีวิธีการตรวจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    การตรวจภายใน แพทย์อาจวินิจฉัยอาการได้จากการสังเกตบริเวณโดยรอบช่องคลอด เช่น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือมีตกขาวผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้มือข้างหนึ่งตรวจในช่องคลอดและใช้มืออีกข้างกดบริเวณหน้าท้อง หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ตรวจดูภายในช่องคลอด เพื่อตรวจสอบอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานและหาสัญญาณของการติดเชื้อภายใน

    การตรวจตกขาว แพทย์จะนำตัวอย่างของตกขาวที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้ทราบว่าเป็นภาวะ Bacterial Vaginosis หรือไม่

    การตรวจวัดค่า pH วิธีนี้จะใช้ตรวจสอบความเป็นกรดภายในช่องคลอด โดยระดับค่า pH ที่ 4.5 หรือมากกว่า จะถือเป็นสัญญาณของภาวะ Bacterial Vaginosis   


การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากอาการ Bacterial Vaginosis สามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ที่เป็นปัญหาและไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา

ส่วนการรักษาภาวะนี้ ทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น

    ยาเมโทรนิดาโซลชนิดรับประทาน โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยารักษาและหลังรักษาเสร็จสิ้นอย่างน้อย 1 วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงอย่างอาการมวนท้อง ปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียน
    ยาคลินดามัยซินชนิดรับประทาน แต่ยานี้อาจทำให้เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงอย่างลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรงได้
    ยาทินิดาโซล ซึ่งเป็นยารับประทานที่มีผลข้างเคียงคล้ายยาเมโทรนิดาโซล ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งและไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตัวเองหากยังไม่ครบกำหนดเวลาตามที่แพทย์กำหนด เพราะอาจเสี่ยงเกิดอาการดื้อยาได้ ซึ่งหลังการรักษา 3-12 เดือน ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้ โดยแพทย์อาจรักษาต่อด้วยการให้ใช้ยาเมโทรนิดาโซลในระยะยาว และผู้ป่วยอาจต้องรักษากับแพทย์นรีเวช ส่วนสตรีมีครรภ์อาจต้องเข้าพบสูติแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์ไม่ควรรักษาภาวะ Bacterial Vaginosis ที่ไม่มีอาการแสดง เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการรักษาจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่

นอกจากนี้ แม้โดยปกติคู่นอนเพศชายที่ร่วมเพศกับผู้หญิงที่ติดเชื้ออาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่สำหรับคู่นอนแบบหญิงรักหญิงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาร่วมด้วยหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น เนื่องจาก Bacterial Vaginosis สามารถแพร่เชื้อไปยังคู่นอนอีกคนได้


ภาวะแทรกซ้อนของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ตามปกติอาการของ Bacterial Vaginosis ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ และบางครั้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างการติดเชื้อเอชไอวี เริม หนองในเทียม หรือหนองในแท้ รวมทั้งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดมดลูกหรือการขูดมดลูก และอาจเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในเวลาต่อมาอีกด้วย

สำหรับสตรีมีครรภ์ อาจมีความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการแท้งบุตร ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ การคลอดก่อนกำหนดที่ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อของเยื่อหุ้มทารกและน้ำคร่ำ และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด ดังนั้น หากพบอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นภาวะ Bacterial Vaginosis ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


การป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

คนทั่วไปสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิด Bacterial Vaginosis ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

    เลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยนต่อจุดซ่อนเร้นหรือผ้าอนามัยที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันอาการระคายเคือง       
    ไม่สวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลและเกิดการติดเชื้อได้
    มีคู่นอนเพียงคนเดียวหรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
    เมื่อมีเพศสัมพันธ์และสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก ทางปากหรือที่เรียกว่าออรัลเซ็กส์ ควรสวมถุงยางอนามัยหรือใช้แผ่นยางอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย