หมอออนไลน์: ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Bird flu/Avian influenza)ไข้หวัดนก (ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกก็เรียก) จัดเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) อันเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่จากสัตว์ปีกมาสู่คน พบผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกที่ฮ่องกง เมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาเริ่มพบผู้ป่วยในประเทศเวียดนาม และไทย (เมื่อปลายปี พ.ศ. 2546) ในกัมพูชา อินโดนีเซีย และจีน (เมื่อปี พ.ศ. 2548) อาเซอร์ไบจัน อียิปต์ อิรัก ตุรกี จีบูติ (พ.ศ. 2549) ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน (พ.ศ. 2550)
ไข้หวัดนกพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และมีความรุนแรง ซึ่งมีอัตราตายสูง
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีอยู่ในนกน้ำที่มีการอพยพย้ายถิ่น นกชายทะเล และนกป่า นกเหล่านี้เป็นพาหะของโรค (ติดเชื้อโดยไม่มีอาการเจ็บป่วย) เป็นส่วนใหญ่ แต่จะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลาย น้ำมูก และมูลนก แพร่ให้นกธรรมชาติ นกบ้าน ฝูงสัตว์ปีกตามฟาร์มและบ้านเรือน เช่น ไก่ ไก่ชน ไก่งวง ไก่ต๊อก เป็ด ห่าน เป็นต้น ทำให้เกิดโรคระบาดและการตายอย่างรวดเร็วของฝูงสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ที่เลี้ยงตามบ้านและฟาร์มที่เป็นโรงเรือนเปิด ส่วนเป็ดในท้องทุ่งเมื่อมีการติดเชื้อชนิดนี้ส่วนหนึ่งจะป่วยและตาย แต่ส่วนหนึ่งจะเป็นพาหะ (ไม่มีอาการเจ็บป่วย) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้สัตว์ปีกอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังพบว่า เชื้อไข้หวัดนกยังสามารถติดต่อไปยังสัตว์ประเภทเสือ สุนัข แมว และหมู ทำให้สัตว์เหล่านี้ป่วยและตายได้ สำหรับแมวพบว่าสามารถติดต่อจากแมวสู่แมวด้วยกันเองได้อีกด้วย
การติดเชื้อจากสัตว์ปีกมาสู่คน สัตว์ปีกที่ป่วยจะมีเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา และมูลสัตว์ ซึ่งจะปนเปื้อนอยู่ตามตัวของสัตว์ปีกและสิ่งแวดล้อม คนเราสามารถติดเชื้อไข้หวัดนกได้ 2 ทาง ได้แก่
1. การสัมผัสกับสัตว์ปีก (โดยเฉพาะไก่) ที่ป่วยโดยตรง
2. การสัมผัสถูกสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อในบริเวณที่เกิดโรคระบาดของสัตว์ปีก เช่น ดิน กรงหรือเล้าสัตว์ น้ำหรืออาหารที่ป้อนสัตว์ เป็นต้น
เชื้อจะติดมากับมือของผู้ป่วย เมื่อเผลอใช้นิ้วมือแยงตา แยงจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุตาและเยื่อบุจมูก
ระยะฟักตัว 2-8 วัน (เฉลี่ย 4 วัน)
กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่คลุกคลีสัมผัสใกล้ชิดกับไก่ที่ป่วย หรืออยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้หวัดนกในฝูงสัตว์ปีก เช่น ผู้ที่เลี้ยงไก่ ทำงานในฟาร์มไก่ ขนย้ายไก่ ชำแหละไก่ เด็กที่เล่นคลุกคลีกับไก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีก เป็นต้น
การติดเชื้อจากคนสู่คนแบบไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดได้ยาก จะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น แม่ดูแลลูกที่ป่วย โดยการสัมผัสน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย และการติดต่อจะสิ้นสุดที่ผู้ติดเชื้อคนที่ 2 (เช่น แม่ที่ติดเชื้อจากลูก) ไม่ติดต่อให้คนที่ 3 ต่อไป
แต่เกรงกันว่า เชื้อไข้หวัดนกอาจกลายพันธุ์โดยการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดนกกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคน เมื่อคนหรือหมูติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน หากเกิดการกลายพันธุ์ก็สามารถติดจากคนสู่คนได้ง่าย และอาจมีการระบาดรุนแรงดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต (ในปี พ.ศ. 2461-2462 มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 20-40 ล้านคน เกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมในหมู)
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการแบบไข้หวัดใหญ่ คือเริ่มด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ บางรายอาจมีอาการตาแดง ปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเดินร่วมด้วย
ต่อมาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหายใจหอบเนื่องจากปอดอักเสบ ซึ่งอาจเกิดตั้งแต่ 1-16 วัน (ค่ามัธยฐาน 5 วัน) หลังมีไข้ บางรายอาจมีอาการปอดอักเสบหลังจากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินนำมาก่อน โดยไม่มีอาการเจ็บคอ เป็นหวัด ไอก็ได้
นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการท้องเดินรุนแรงนำมาก่อน แล้วตามมาด้วยอาการชัก หมดสติ และตายเนื่องจากภาวะสมองอักเสบก็ได้
ในรายที่เป็นไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็จะหายได้เองภายใน 2-7 วัน อาการรุนแรงมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
บางรายอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้
ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญก็คือ ปอดอักเสบ (ซึ่งเกิดจากไวรัสเป็นส่วนใหญ่) และกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS) ซึ่งอาจเกิดตั้งแต่ 4-13 วัน (ค่ามัธยฐาน 6 วัน) หลังมีไข้ และเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การเสียชีวิตเกิดตั้งแต่ 9-30 วัน (ค่ามัธยฐาน 12 วัน) หลังมีไข้
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ตับอักเสบ เลือดออกในปอด (pulmonary hemorrhage) ปอดทะลุ ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด (pancytopenia) โรคเรย์ซินโดรม กลุ่มอาการโลหิตเป็นพิษ (sepsis syndrome) เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบดังนี้
ไข้ ≥ 38 องศาเซลเซียส
อาจพบอาการน้ำมูกไหล (พบได้ประมาณร้อยละ 50-60 ของผู้ป่วย)
ในรายที่มีปอดอักเสบร่วมด้วย จะพบอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องตรวจฟังปอดอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการนำสิ่งคัดหลั่งบริเวณคอหอย โพรงหลังจมูก หรือหลอดลมไปตรวจหาเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น immunofluorescent assay (IFA), reverse transcriptase-poly-merase chain reaction (RT-PCR), real time PCR การแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง เป็นต้น และทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ปอด (พบร่องรอยการอักเสบของปอด) ตรวจเลือด (พบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำ เอนไซม์ตับ ได้แก่ AST และ ALT สูง ครีอะตินีนสูง)
การรักษาโดยแพทย์
ถ้าพบผู้ป่วยเป็นไข้ (≥ 38 องศาเซลเซียส) ไข้หวัดหรือไข้ร่วมกับหายใจหอบ และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วันก่อนป่วย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วันก่อนป่วย หรือพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้หวัดนก ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
ถ้าตรวจพบหรือสงสัยเป็นไข้หวัดนก มักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
การรักษา แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) นาน 5 วัน ยานี้จะใช้ได้ผลดีควรให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการ
ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า นาน 7-10 วัน
นอกจากนี้ จะให้การรักษาตามอาการหรือภาวะที่พบร่วม เช่น ถ้าหายใจหอบก็ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ออกซิเจน
ถ้าสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ก็ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่สงสัย
ในรายที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว อาจพิจารณาให้สเตียรอยด์ (ซึ่งยังสรุปไม่ได้แน่ชัดถึงประโยชน์ของการใช้ยานี้)
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน มักจะมีอัตราตายสูง มักตายภายใน 6-30 วันหลังมีอาการ (เฉลี่ย 9-10 วัน)
ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็มักจะรักษาให้หายขาดได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้หลังจากสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย หรืออยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้หวัดนกในฝูงสัตว์ปีก หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หรือเพิ่งกลับจากการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดนก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย และไม่นำสัตว์ปีกพวกนี้มาชำแหละเป็นอาหาร
2. หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ให้สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ (ถ้าไม่มีให้สวมถุงพลาสติกหนา ๆ แทน)
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีก น้ำลาย น้ำมูก และมูลของสัตว์ปีก
4. กินเนื้อสัตว์ปีก หรือไข่ที่ปรุงให้สุกแล้ว
5. เมื่อสมาชิกในบ้านเป็นไข้หรือไข้หวัด ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การป้องกัน" ในโรคไข้หวัด)
หากสงสัยเป็นไข้หวัดนก ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว และผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้กินยาต้านไวรัส ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์ป้องกัน ผู้ใหญ่กินขนาด 75 มก. (เด็กใช้ขนาดครึ่งหนึ่งของที่ใช้ในการรักษา) วันละครั้ง นาน 7-10 วัน
6. สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข
ในกรณีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ (ถ้าหากเป็นพร้อมกับไข้หวัดนก ก็อาจเสี่ยงต่อการทำให้มีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม จนกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดนกที่แพร่จากคนสู่คนได้ง่าย)
ทุกครั้งที่ให้การดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนก ควรสวมหน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกันการติดเชื้อ และเสื้อกาวน์ รวมทั้งหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
ถ้ามีการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดนก โดยไม่ได้ทำตามมาตรการป้องกันดังกล่าว ควรกินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ขนาด 75 มก. วันละครั้ง นาน 7-10 วัน
เมื่อมีการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดนก ควรเฝ้าระวังสังเกตอาการและวัดไข้ทุกวัน จนพ้นระยะฟักตัวของโรค หากมีอาการน่าสงสัย ควรรีบทำการตรวจวินิจฉัย และอาจจำเป็นต้องให้ยารักษาแต่เนิ่น ๆ
การป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีก
1. ป้องกันไม่ให้นกอพยพและสัตว์พาหะอื่น ๆ เข้ามาในฟาร์ม
2. นำไก่อายุเดียวกันเข้าฟาร์มมาทีละชุด และควรแยกขังสัตว์ที่นำเข้ามาใหม่ไว้ก่อนจนพ้นระยะฟักตัวของโรค
3. ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามาในฟาร์มอย่างเข้มงวด เช่น ไม่นำวัสดุรองพื้น ถาดไข่ และวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ระบาดมาใช้ ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตามยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์
4. ฉีดวัคซีนป้องกันเฉพาะในสัตว์ปีกที่มีราคาแพง เช่น สัตว์ปีกสวยงาม ไก่ชน
5. เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยสัตว์ปีกป่วยเป็นไข้หวัดนก (มีอาการไข้ หงอยซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง หน้า หงอน และเหนียงบวม และมีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจมีอาการท้องเสีย ชัก และลดการไข่ หรือไข่มีลักษณะผิดปกติ ตายอย่างรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง) ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อดำเนินการควบคุมโรค ดังนี้
ในฟาร์มที่มีการระบาด ต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมด รวมทั้งสัตว์ปีกในพื้นที่ควบคุมรัศมี 1-5 กม.
เก็บตัวอย่างมูลสัตว์ (cloacal swab) ในพื้นที่ควบคุมส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ซากไก่ เป็ด ไข่ รวมทั้งมูลสัตว์ในพื้นที่ระบาดต้องทำลายทิ้งทั้งหมดด้วยการฝังหรือเผา ห้ามนำมาบริโภค หรือนำไปทำปุ๋ย หรือเลี้ยงสัตว์
วิธีฝัง ให้ใส่ซากสัตว์ในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น ฝังให้ห่างจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 30 เมตร ฝังซากให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร แล้วโรยปูนขาวหรือราดน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออาจใช้น้ำเดือดราดที่ซากก่อนกลบดินให้แน่น
ทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ
ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กม.
กรณีที่ต้องการเก็บซากสัตว์เพื่อทำลาย หรือส่งตรวจชันสูตร ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน (เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย) เมื่อเสร็จงานแล้ว ควรนำอุปกรณ์และเสื้อผ้าไปทำความสะอาดด้วยน้ำที่ผสมผงซักฟอก ผึ่งแดดให้แห้ง เสร็จแล้วต้องรีบล้างมือ และอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำกับสบู่ทันที
ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่จนกว่าจะตรวจสอบไม่พบการติดเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน
ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากโรคนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ แต่มีอันตรายร้ายแรงกว่ากันมาก เนื่องจากเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคนเรายังขาดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือเป็นไข้หวัด และมีประวัติว่ามีการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือผู้ป่วยไข้หวัดนก ภายใน 7 วันก่อนไม่สบาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วันก่อนไม่สบาย ก็ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว หากเป็นโรคนี้ควรได้ยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการ ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้
2. ผู้ที่สัมผัสสัตว์ปีก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่หรือเป็ด) ที่ป่วยหรือตาย หรือผู้ป่วยไข้หวัดนก ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเป็นไปได้ควรทำการวัดไข้ด้วยปรอททุกวัน วันละ 2 ครั้ง จนพ้นระยะฟักตัวของโรค
3. แม้ว่าในปัจจุบันการติดเชื้อจากคนที่เป็นไข้หวัดนกโดยตรงนั้นยังเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งต้องอยู่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด แต่เพื่อความปลอดภัย แพทย์ บุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วย จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ป่วย (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การป้องกัน" ด้านบน)
4. ถึงแม้ในปัจจุบันไม่มีรายงานการเกิดผู้ป่วยไข้หวัดนก แต่ควรติดตามเฝ้าระวัง หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่จะได้ระมัดระวังหาทางป้องกันไม่ให้เป็นโรคร้ายแรงชนิดนี้