head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรคส่าไข้ (Roseola Infantum/Roseola/Exanthema Subitum/Sixth Disease)  (อ่าน 20 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 235
  • ผู้ผลิตขายส่ง โพสฟรี SEO
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรคส่าไข้ (Roseola Infantum/Roseola/Exanthema Subitum/Sixth Disease)
« เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2024, 23:00:01 น. »
ตรวจโรคส่าไข้ (Roseola Infantum/Roseola/Exanthema Subitum/Sixth Disease)

ส่าไข้ (Roseola Infantum/Roseola/Exanthema Subitum/Sixth Disease) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคเริม ทำให้เกิดผื่นแดงกระจายทั่วตัวและมีไข้ขึ้นสูง โดยพบในทารกและเด็กเล็กมากกว่าวัยอื่น ทางการแพทย์อาจเรียกโรคนี้ได้อีกหลายชื่อ เช่น ไข้ผื่นกุหลาบ หัดกุหลาบ หัดเทียม 

อาการส่าไข้

ระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ในช่วง 5-15 วัน และจะแสดงอาการออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ อาการของโรคไม่ค่อยรุนแรงและมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ สังเกตอาการได้จาก

    ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเกือบ 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า และลดลงภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหรืออาจมีไข้อยู่ประมาณ 3-5 วัน บางรายมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับไข้ขึ้นหรือเป็นนำมาก่อน เช่น น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม
    หลังไข้ลดลงมักจะเกิดผื่นขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร บริเวณหน้าอก หลัง ท้อง และคอ หรืออาจลามไปที่ใบหน้า แขน และขา โดยผื่นที่พบจะเป็นจุดเล็ก ๆ หรือเป็นปื้นสีแดงออกชมพู มีลักษณะค่อนข้างแบน ไม่ค่อยมีอาการคันหรือเจ็บ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นและหายได้เองภายในไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 1-2 วัน

    บางรายอาจพบเฉพาะอาการไข้ขึ้นโดยไม่มีผื่นตามมา
    หงุดหงิดง่าย
    ท้องเสีย
    ไม่อยากอาหาร
    เปลือกตาบวม

เมื่อมีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการชักและอาการของโรคยังมีความคล้ายคลึงกับไข้ออกผื่นชนิดอื่น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและไปพบแพทย์เมื่อผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไข้ขึ้นนานเป็นสัปดาห์ หรือเกิดผื่นนานกว่า 3 วัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอแล้วไปสัมผัสผู้ที่มีเชื้อควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อและป้องกันอาการของโรค ซึ่งมักจะรุนแรงมากกว่าในเด็กทั่วไป


สาเหตุส่าไข้

ส่าไข้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสในกลุ่มโรคเริมที่ชื่อว่า Human Herpesvirus 6: HHV-6 และอาจเกิดจากเชื้อไวรัส Human Herpes Virus 7: HHV-7 ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม สัมผัสโดนสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจอย่างน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วยเมื่ออยู่ใกล้กัน โดยการแพร่กระจายของเชื้อจะเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการหรือเป็นไข้ แต่เมื่อเกิดผื่นหรือมีอาการอื่น ๆ ของโรคจะไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่น ระยะฟักตัวของโรคจนกระทั่งผู้ป่วยแสดงอาการจะอยู่ในช่วง 9-10 วัน

แม้ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคเริม  แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ จากไวรัสกลุ่มนี้ตามมา เช่น โรคเริม โรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัด สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นทารกและเด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือน-3 ปี มากกว่าวัยอื่น ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 95% เป็นเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี


การวินิจฉัยส่าไข้

แพทย์จะวินิจฉัย โรคจากการสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเป็นหลัก เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคหรือสาเหตุอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น เมื่อมีไข้ขึ้น มีน้ำมูก ไอ แพทย์จำเป็นต้องแยกโรคนี้ออกจากโรคไข้หวัด

ในผู้ที่มีอาการชัดเจน แพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามประวัติและการตรวจร่างกาย แต่บางรายที่บอกไม่ได้ชัดเจนอาจรอให้เกิดผื่นขึ้นตามอาการของโรค โดยแพทย์จะอธิบายลักษณะของผื่น เพื่อให้สังเกตได้ง่ายในระหว่างการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาตรวจเลือดในผู้ที่มีอาการไม่ชัดเจน เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ หรือช่วยยืนยันผลการติดเชื้อ โดยการตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ การตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธีพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) และการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Serology)   


การรักษาส่าไข้

ส่าไข้ไม่มีรูปแบบการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะเป็นการดูแลแบบประคับประคองไปตามอาการด้วยการบรรเทาอาการตามคำแนะนำ ดังนี้

    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทารกหรือเด็กที่ยังรับประทานนม มารดาควรพยายามให้นมอย่างสม่ำเสมอ
    ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
    รับประทานยาลดไข้เมื่อไข้ขึ้นสูงจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ควรอ่านฉลากยาก่อนทุกครั้ง เพื่อรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟนพร้อมกัน ให้รับประทานทีละชนิด และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) ยกเว้นแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันโรคกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) จากการแพ้ยาแอสไพริน
    หากรับประทานยาแล้วยังคงมีไข้ ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นรุนแรงมากกว่าเดิมแม้ว่ามีการบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น มีไข้สูง มีอาการขาดน้ำ มีไข้ชัก หรือซึมลง บุคคลใกล้ชิดควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแกนไซโคลเวียร์ (Ganciclovir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส เพื่อช่วยบรรเทาอาการ     


ภาวะแทรกซ้อนของส่าไข้

ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเกิดโรคไข้ชัก (Febrile Seizure/Febrile Convulsion) หรืออาการชักจากไข้ขึ้นสูงได้บ่อย โดยพบได้ประมาณ 5-15% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เป็นเด็ก และอาจมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อนชัก เช่น ความรู้สึกตัวลดลง เกิดการกระตุกที่แขน ขา หรือใบหน้านาน 2-3 นาที ฉุนเฉียวง่าย แต่อาการชักจากส่าไข้มักไม่อันตรายและเป็นในระยะสั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคสมองอักเสบ ไวรัสตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อที่หู ซึ่งบางสภาวะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมไปถึงบางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะ Haemophagocytic Syndrome และการติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส (Infectious Mononucleosis) ที่มีความรุนแรง แต่พบได้น้อย

การป้องกันส่าไข้

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ช่วยป้องกัน แต่สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้โดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีเชื้อนี้และล้างมือบ่อย ๆ และตัวผู้ป่วยเองควรหยุดพักอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นจนกว่าจะไข้จะลดลง