head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว (Heart failure/Congestive heart failure)  (อ่าน 9 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 193
  • ผู้ผลิตขายส่ง โพสฟรี SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว (Heart failure/Congestive heart failure)

หัวใจวาย (หัวใจล้มเหลว ก็เรียก) หมายถึง ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ขาดออกซิเจน เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และอื่น ๆ

หัวใจวายเกิดได้ทั้งหัวใจห้องซ้ายและขวา แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ห้องซ้าย ซึ่งมักจะทำให้มีหัวใจห้องขวาวายตามมาด้วย ภาวะหัวใจห้องซ้ายวาย (เช่น มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น) จะทำให้มีการคั่งของน้ำในปอด เรียกว่า “น้ำท่วมปอด” หรือ “ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema)” ทำให้มีอาการหายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย

ส่วนภาวะหัวใจห้องขวาวาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดตามหลังหัวใจห้องซ้ายวาย และส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุบางอย่าง (เช่น ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมีความผิดปกติของหัวใจห้องขวา) ก็จะมีการคั่งของน้ำที่ตับ (ทำให้ตับโต) ในช่องท้อง (ท้องบวม) และแขนขา (ทำให้แขนบวม เท้าบวม)

หัวใจวายส่วนใหญ่มักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเรื้อรัง เรียกว่า “หัวใจวายเรื้อรัง (chronic heart failure)”

ส่วนน้อยมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที เรียกว่า “หัวใจวายเฉียบพลัน (acute heart failure)” ที่พบบ่อย ได้แก่ หัวใจวายเฉียบพลันที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจมีลิ่มเลือดอุดตันโดยสิ้นเชิง เรียกว่า “หัวใจวายกะทันหัน (heart attack)” ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้

หัวใจวายถือเป็นภาวะร้ายแรง จำเป็นต้องได้รับยารักษาอย่างทันการณ์และต่อเนื่อง หากรักษาไม่ทันหรือขาดการรักษา มักจะมีอาการกำเริบรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) คนอ้วน ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ที่มีประวัติภาวะหัวใจวายในครอบครัว

สาเหตุ

ภาวะหัวใจวายมีสาเหตุได้หลายประการ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายที่พบได้บ่อยที่สุด
    ความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ทำให้หัวใจทำงานหนัก จนกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือด
    โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ทำให้หัวใจห้องซ้ายวาย
    โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น หัวใจเต้นช้าเกินหรือเร็วเกิน หรือเต้นระรัวไม่เป็นจังหวะ
    ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว (เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจรูมาติก) หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart diseases มีภาวะผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ) เป็นเหตุให้หัวใจทำงานหนัก และหัวใจวายได้
    โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจมีความหนาตัวแต่อ่อนแอลง ทำให้หัวใจวาย โรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การเสพสารเสพติด (เช่น ยาบ้า โคเคน) เป็นเวลานาน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือทำงานน้อย การติดเชื้อโควิด-19 โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น เอสแอลอี ข้ออักเสบรูมาตอยด์) เป็นต้น
    เคมีบำบัดและรังสีบำบัด 
    การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยารักษาโรคเบาหวาน-ไพโอกลิทาโซน (pioglitazone), ยารักษามาลาเรีย-คลอโรควีน (chloroquine), ยาต้านเชื้อรา-ไอทราโคนาโซล (itraconazole) เป็นต้น
    อื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (คอพอกเป็นพิษ) หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (ภาวะขาดไทรอยด์) ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง) โรคหืด โลหิตจาง โรคเหน็บชา การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดความผิดปกติทางโครงสร้าง (หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ) และการทำงานของหัวใจ (หัวใจทำงานหนัก สูบฉีดเลือดไม่ได้หรือได้น้อยลง) ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย

อาการ

ในระยะแรก มีอาการหอบเหนื่อยเฉพาะเวลาออกแรงมากหรือทำงานหนัก และอาจมีอาการไอและหายใจลำบากในตอนดึก ๆ ช่วงหลังเข้านอนแล้ว จนต้องลุกขึ้นนั่ง บางรายอาจมีอาการหอบคล้ายเป็นหืด ต้องลุกไปสูดหายใจที่ริมหน้าต่าง จึงรู้สึกค่อยยังชั่ว

บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นอึดอัดในท้องหรือลิ้นปี่ ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา มือบวม ข้อเท้าบวม

ในรายที่เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก

เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น แม้ทำงานเพียงเล็กน้อยหรืออยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกหายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหรือนั่งพิงหมอนสูง ๆ (หมอนหลายใบ) ปัสสาวะออกน้อย หรือบางรายอาจปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เท้าบวมขึ้น และอาจมีท้องบวม (ท้องมาน) โดยมากมักจะไม่บวมที่หน้าหรือหนังตาเช่นที่พบในผู้ป่วยเป็นโรคไต

ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากมีภาวะน้ำเกิน (มีการคั่งของน้ำตามส่วนต่าง ๆ) ในร่างกาย

เมื่อเป็นรุนแรง อาจมีอาการไอรุนแรง และมีเสมหะเป็นฟองสีแดงเรื่อ ๆ อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปากเขียว กระสับกระส่าย ใจสั่น และหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรัง ซึ่งจะค่อย ๆ มีอาการมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

ในรายที่มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการหอบหรือหายใจลำบาก แน่นอึดอัดในอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ อ่อนล้ามาก บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าบวม ไอหรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่นหรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าเย็น ริมฝีปากเขียว เป็นลม หมดสติ เป็นต้น

บางรายอาจมีภาวะช็อกร่วมด้วย (ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ เรียกว่า "cardiogenic shock" ภาวะนี้พบในผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันเพียงบางราย ซึ่งมักเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)


อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการกำเริบ (เกิดอาการทรุดหนัก) ของภาวะหัวใจวายเรื้อรังที่เป็นอยู่ก่อน ส่วนน้อยอาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันทีเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดหรือหลอดเลือดปอดอุดตัน (pulmonary embolism) เป็นต้น

อาการนอนราบไม่ได้ (นอนหมอนหลายใบ)

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (atrial fibrillation) ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายร้ายแรงตามมาได้
    ลิ้นหัวใจพิการ เนื่องจากภาวะหัวใจวายทำให้หัวใจมีขนาดโตขึ้น และมีแรงดันภายในหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมลง ทำงานผิดปกติ
    ไตวายเรื้อรัง เนื่องจากภาวะหัวใจวาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ไตค่อย ๆ เสื่อมลง จนถึงขั้นจำเป็นต้องทำการล้างไต (dialysis)   
    ตับแข็ง เนื่องจากภาวะหัวใจวาย ทำให้มีการคั่งของน้ำในตับ เกิดแรงกดดันต่อเซลล์ตับ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลาย จนสูญเสียการทำหน้าที่ กลายเป็นโรคตับแข็ง
    น้ำท่วมปอดหรือปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทำให้มีอาการหายใจลำบาก
    ภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร แน่นท้อง (ซึ่งเป็นผลมาจากอาการท้องบวมอันเกิดจากมีน้ำคั่งในช่องท้อง) ทำให้กินอาหารได้น้อย ขาดสารอาหาร

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง มือบวม เท้าบวม (กดที่ข้อเท้ามีรอยบุ๋ม) บางรายอาจมีท้องมาน

ชีพจรเต้นเร็ว บางครั้งอาจตรวจพบชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ

ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะฟังชัดที่บริเวณใต้สะบัก บางรายอาจได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) คล้ายหืดร่วมด้วย

มักคลำได้ตับโต

บางรายใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจอาจได้ยินเสียงหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือมีเสียงฟู่ (murmur) บางรายอาจมีความดันโลหิตสูง หรือมีอาการอื่น ๆ แล้วแต่สาเหตุที่เป็น

ในรายที่มีภาวะช็อก จะตรวจพบอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ


แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (ดูภาวะซีด, ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ทดสอบการทำงานของตับ ไต ต่อมไทรอยด์, ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด, อิเล็กโทรไลต์ เป็นต้น) ตรวจระดับ natriuretic peptide (BNP หรือ NT pro-BNP) ในเลือด (ซึ่งภาวะหัวใจวายจะพบว่าสูงกว่าปกติ) ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การสวนหัวใจหรือการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram) การตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ (myocardial biopsy โดยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยชนิดของโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจวาย) เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาดังนี้

1. รักษาอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เช่น แก้ไขภาวะการหายใจล้มเหลวด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการให้ออกซิเจนตามข้อบ่งชี้, แก้ไขภาวะน้ำเกิน (การคั่งของน้ำในร่างกาย) ด้วยยาขับปัสสาวะ (เช่น furosemide) การจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มและปริมาณเกลือโซเดียมที่บริโภค, แก้ไขภาวะช็อกที่พบร่วมด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาอื่น ๆ (เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยากระตุ้นหัวใจ ยาหดเกร็งหลอดเลือด เป็นต้น) และวิธีรักษาอื่น ๆ ตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย


2. ให้ยารักษาเพื่อควบคุมภาวะหัวใจวาย มียาหลายชนิดให้เลือกใช้ ซึ่งมักจะใช้ร่วมกัน ดังนี้


(1) ยาต้านเอซ (ACE Inhibitors เช่น enalapril, lisinopril, captopril) หรือยาเออาร์บี (angiotensin II receptor blockers/ARBs เช่น losartan, valsartan) ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และหัวใจทำงานดีขึ้น


(2) ยาปิดกั้นบีตา (beta blockers เช่น bisoprolol, carvedilol) ช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง ลดความดันโลหิต และหัวใจทำงานดีขึ้น


(3) ยาต้านแอลโดสเตอโรน (mineralocorticoid receptor antagonist/MRA เช่น spironolactone) โดยให้ยาในขนาดต่ำ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปรับสภาพโครงสร้างหัวใจที่ไม่พึงประสงค์ (เช่น การเกิดพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ)


แพทย์จะให้ยาทั้ง 3 ชนิดข้างต้นร่วมกันเป็นพื้นฐาน* หากไม่ได้ผลเต็มที่ แพทย์จะพิจารณาปรับการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยอาจให้ยากลุ่มอื่น (เช่น digoxin หรือ ivabradine) เพิ่มเติม หรืออาจใช้ยากลุ่มอื่นแทนยากลุ่มที่ (1) ข้างต้น เช่น ยากลุ่ม ARNI (ได้แก่ sacubitril/valsartan) สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม (1) แล้วเกิดผลข้างเคียง หรือมีข้อห้ามใช้ แพทย์อาจพิจารณาให้ hydralazine ร่วมกับ isosorbide แทน*


สำหรับผู้ป่วยที่ได้ยารักษาอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่ทุเลาดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (ICD/Implantable cardioverter defibrillator), การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (CRT/Cardiac resynchronization therapy)


3. รักษาโรคที่พบร่วมหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของหัวใจวาย อาทิ

    เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือภาวะโลหิตจาง ก็จะให้การรักษาด้วยยา
    ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
    โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคหัวใจรูมาติก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจต้องรักษาด้วยการทำบัลลูน หรือผ่าตัดบายพาส

4. สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายระยะสุดท้าย (เนื่องจากมีภาวะรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษา) แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดใส่เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ (mechanical circulatory support) หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค หากได้รับการรักษาได้ทันการณ์และอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้อาการทุเลา ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่หากมีภาวะหัวใจวายที่รุนแรง หรือมีสาเหตุจากโรคที่รุนแรง หรือไม่ได้ดูแลรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้บ่อยและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำซาก หรือเสียชีวิตได้

*อ้างอิง สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว พ.ศ. 2562

การดูแลตนเอง

หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นภาวะหัวใจวาย เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย และเท้าบวม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

ควรไปพบแพทย์ด่วน ถ้ามีอาการหอบหรือหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกรุนแรง หรือเป็นลม

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลตนเองดังนี้

1. ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ 

2. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    งดแอลกอฮอล์ และบุหรี่
    ห้ามตรากตรำงานหนัก
    ออกกำลังกายตามกำลังของตน เช่น การเดิน (โดยขอให้แพทย์ที่รักษาแนะนำวิธีที่เหมาะสม)
    กินอาหารที่มีประโยชน์ในการควบคุมโรค โดยเน้นผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นมพร่องมันเนย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม รวมทั้งน้ำตาล เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เนื้อแดง เนื้อติดมัน
    จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม และเกลือโซเดียมที่บริโภคต่อวัน (โดยขอคำแนะนำจากแพทย์ที่รักษาว่าควรเป็นเท่าไร) เพื่อลดบวมและป้องกันอาการกำเริบ
    ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน 
    หมั่นตรวจดูอาการเท้าบวม และชั่งน้ำหนักเองที่บ้านทุกวัน หากพบว่ามีอาการเท้าบวมหรือน้ำหนักขึ้นเร็ว ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ทำงานอดิเรก รดน้ำต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ฝึกสมาธิ ชื่นชมธรรมชาติและศิลปกรรม เสวนากับผู้คนหรือร่วมกิจกรรมกลุ่มมิตรภาพบำบัด เป็นต้น)
    กินยาที่แพทย์สั่งใช้ให้ครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาและปรับการใช้ยาเอง (ทั้งชนิดยา และขนาดยา) โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน
    หลีกเลี่ยงการซื้อยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้เอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ หรือเกิดปฏิกิริยาด้านลบกับยาที่ใช้รักษาอยู่ก่อน
    ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์แนะนำ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ

3. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจอึดอัดเวลานอนราบ ท้องบวม มือบวม หรือเท้าบวม อ่อนล้ามาก หรือน้ำหนักตัวขึ้นเร็ว
    มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องเดินมาก อาเจียนมาก หรือหน้าตาซีด เป็นต้น
    มีอาการนอนกรน และง่วงนอนตอนกลางวัน หรือสงสัยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
    ขาดยา ยาหาย หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย ดังนี้

    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
    ไม่สูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าเลี่ยงไม่ได้ในบางโอกาส ควรดื่มในปริมาณเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ)
    บริโภคอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ เน้นการกินผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ ธัญพืชและถั่วต่าง ๆ ให้มาก ลดละอาหารหวาน น้ำตาล ไขมัน อาหารเค็ม
    ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
    ป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของหัวใจวาย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น
    ควรป้องกันไม่ให้อาการหัวใจกำเริบซ้ำ โดยการดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ข้อแนะนำ

1. หัวใจวายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการกำเริบได้บ่อย และเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจรุนแรงถึงทำให้เสียชีวิตกะทันหันหรือภายในเวลา 5-10 ปีหลังมีอาการครั้งแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด และดูแลรักษาตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


ผู้ป่วยและญาติควรเรียนรู้ธรรมชาติของโรคและการดูแลรักษาตนเอง และนำไปปฏิบัติในการดูแลตนเองที่บ้านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี


2. ผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ถุงลมปอดโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง โรคภูมิต้านตนเอง) หรือมีปัจจัยเสี่ยง (เช่น มีภาวะอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด) ควรดูแลรักษาโรคเหล่านี้อย่างจริงจังและปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงลง และควรสังเกตอาการด้วยตนเอง หากสงสัยว่ามีอาการหัวใจวายเกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจรักษาได้อย่างทันการณ์