อาหารสุขภาพ ปรับสูตรอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีทางเลือกของอาหารเพื่อสุขภาพ ที่หลากหลายในปัจจุบัน เช่น โปรตีนจากพืช ขนมคีโต เค้กไร้แป้ง นมจากพืช เช่น นมอัลมอนด์ หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลประเภทต่างๆ ไวน์มีประโยชน์มากมาย เช่น มีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ ช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี ช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็งได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี จึงควรดื่มไม่เกิน 1-2 แก้ว (150 มล.) ต่อวัน จึงจะเกิดประโยชน์จากการดื่ม
ช่วงเทศกาลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งวันเงินเดือนออก หลายๆ คนมักจะนัดปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่คุณรัก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกินดื่มจะต้องเข้ามาเป็นกิจกรรมหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนบางครั้ง ด้วยความเพลิดเพลินและสุขใจ ทำให้เราเผลอรับประทานเกินจากที่ร่างกายต้องการไปบ้าง ทั้งอาหารไขมันสูง เค้กครีมสดสีสันสดใสน่ารับประทาน หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหล่านักดื่มโปรดปราน ทำให้อาจเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้ จะดีกว่าไหม หากเรามีทางเลือกของสิ่งที่เรารับประทาน พร้อมๆ กับยังได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสุขไปด้วยได้
อาหารเพื่อสุขภาพ เปลี่ยนจากอาหารทั่วไป มาเป็นอาหารทางเลือก
1. โปรตีนจากพืช (Plant-based Meats)
ปกติแล้วโปรตีนนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะโปรตีนที่มีไขมันน้อย เนื่องจากให้พลังงานสูง ไขมันต่ำ ช่วยให้อิ่มเร็วและนานขึ้น จึงช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี ตัวอย่างของอาหารจำพวกโปรตีน เช่น อกไก่ เนื้อหมูสันใน หรือเนื้อวัว อาจทานในรูปแบบสเต๊ก หรือเอามาทำอาหารในรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นกัน
- เนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant-based meat คืออะไร
ในปัจจุบันนั้น มีตัวเลือกของอาหารมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant-based meat ที่นอกจากให้ผลลัพธ์เชิงบวกในด้านสุขภาพแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เนื้อสัตว์จากพืชนั้นทำมาจากพืชประมาณ 95% โดยหลักแล้วเป็นวัตถุดิบจำพวกถั่วและบีทรูท
นอกจากนั้นคืออาหารจำพวกเห็ด สาหร่าย เครื่องเทศและอื่นๆ แล้วนำมาแปรรูปให้มีรสชาติและผิวสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด โปรตีนจากพืชถือเป็นโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์แต่ยังอยากได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนอยู่ สามารถรับประทานโปรตีนจากพืชโดยนำมาประกอบอาหารได้เสมือนเนื้อสัตว์จริง เช่น เนื้อบด/หมูบดจากพืช หมูกรอบจากพืช หรือแม้แต่เนื้อเบอร์เกอร์ เป็นต้น
ประกอบกับการใช้น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันคาโนล่า น้ำมันเมล็ดองุ่น น้ำมันมะกอก ในการประกอบอาหาร ทำให้ได้เนื้อสัมผัส รสชาติ และความอร่อยที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ
นอกจากจะเหมาะกับคนรักสุขภาพแล้ว ยังเหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังฟื้นฟูร่างกายด้วยเช่นกัน เนื่องจากทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเต็มที่และสามารถเพิ่มสมรรถนะของร่างกายได้ อีกทั้งยังไม่มีคลอเรสเตอรอล จึงเหมาะกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหัวใจ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หรือโรคอ้วนได้ รวมถึงยังเหมาะกับผู้ที่ออกกำลังกายและต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อเนื่องจากได้รับโปรตีนสูงและไขมันต่ำกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์จริงๆ
2. ขนมหวานและเบเกอรี่ เพื่อสุขภาพ
ขนมหวานและเบเกอรี่อย่าง เค้ก คุกกี้ โดนัท นั้นให้พลังงานสูง เค้กสตรอเบอร์รี่ครีมสด 1 ชิ้น ให้พลังงานสูงถึง 420 กิโลแคลอรี่ หากกินหนึ่งก้อน ต้องวิ่งเหยาะๆ ราว 7 กิโลเมตร (ค่าที่ได้อาจแตกต่างกันไปตามความเร็วในการวิ่งหรือน้ำหนักตัว) แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนจากเค้กแบบเดิมๆ ที่เน้นนมเนยเป็นหลัก มาเป็นเค้กรูปแบบอื่น เช่น เค้กไร้แป้ง หรือเค้กคีโต น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากมีคุณประโยชน์มากกว่า ถึงจะมีพลังงานเท่าๆ กันแต่ก็ไม่ได้เป็นอาหารที่ให้พลังงานว่างเปล่า หรือ empty calories และยังอยู่ท้องมากกว่าเนื่องจากทำมาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำจึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เช่น แป้งข้าวโอ๊ต แป้งมะพร้าว แป้งอัลมอนด์ น้ำตาลอิริทริทอล น้ำตาลหล่อฮั่งก๊วย หรือแม้กระทั่งพืชหัวอย่างฟักทอง จึงสามารถนำไปปรับใช้ในการควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย
- ขนมคีโต ทางเลือกสำหรับคนกินคีโต
- ยกตัวอย่างขนมคีโต เช่น คุ้กกี้ที่ทำจากถั่วลูกไก่ ซึ่งให้โปรตีนและเส้นใยไฟเบอร์สูง ขนมปังคีโตที่ทำจากแป้งอัลมอนด์และใส่ไซเลียมฮัสค์เพิ่งกากใยในระบบทางเดินอาหาร บราวนี่ฟักทองไร้แป้ง โลฟเค้กกล้วยช็อกที่ทำจากแป้งอัลมอนด์กับผงคาเคา เป็นต้น
- แป้งกลูเตนฟรี ทางเลือกสำหรับคนแพ้กลูเตน
- ในกรณีที่แพ้กลูเตน จะไม่สามารถรับประทานอาหารที่ทำจากแป้งสาลีได้ แต่ยังสามารถรับประทานขนมที่ทำจากแป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ แป้งอัลมอนด์ แป้งมะพร้าว แป้งถั่วลูกไก่ แป้งมันสำปะหลัง หรือโรลโอ๊ตได้ ซึ่งแป้งเหล่านี้สามารถนำมาทำขนมได้หลากหลายรูปแบบ ถึงแม้ว่าเนื้อสัมผัสอาจจะไม่ได้เหมือนกับการใช้แป้งสาลีมากนัก แต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นกัน
3. เครื่องดื่ม 0 แคล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
เครื่องดื่มทั่วๆ ไป เช่น น้ำพันช์ อาจต้องปรับสูตรในการปรุงเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนมาใช้หญ้าหวานหรือสารทดแทนความหวานประเภทอื่นที่ให้พลังงานต่ำ แทนการใช้ไซรัปในการปรุงน้ำหวานเหล่านี้ (ดูรายละเอียดสารให้ความหวาน SAMITY เพิ่มเติมได้ ที่นี่)
หากเป็นน้ำอัดลม อาจเปลี่ยนเป็นแบบ zero calories แทน ก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยลงเช่นกัน หรือหากอยากดื่มน้ำอัดลมซ่าๆ อาจเลือกดื่มเป็นน้ำส้มสายชูหมักแอปเปิ้ล 1 ช้อนชาผสมกับน้ำเปล่า 1-2 แก้ว แล้วเติมน้ำแข็งแทน นอกจากดับกระหาย ได้ความสดชื่น และคุมความอยากอาหารแล้ว ยังดีต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร และช่วยเรื่องการขับถ่ายได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นโรคเบาหวานหรือโรคกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ การดื่มเบียร์ 1 แก้ว (425มล.) ให้พลังงานมากถึง 182 กิโลแคลอรี่ เท่ากับการรับประทานข้าวขาว 2 ทัพพีครึ่ง หากเปลี่ยนเป็น ไวน์ ซึ่งรวมถึงไวน์แดงและไวน์ขาวจะให้ประโยชน์มากกว่า เพราะไวน์มีประโยชน์ เช่น มีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ ช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี ช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็งได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี จึงควรดื่มไม่เกิน 1-2 แก้ว (150 มล.) ต่อวัน
4. ผลิตภัณฑ์จากนม สำหรับคนแพ้แลคโตส
สำหรับคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมวัว สามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ หรือน้ำนมข้าวได้ โดยเลือกแบบที่หวานน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี หรือบางท่านที่กำลังควบคุมน้ำหนักอาจอยากดื่มนมที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำแต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็สามารถมองหาผลิตภัณฑ์นมจากวัตถุดิบอื่น เช่น นมอัลมอนด์ นมพิสตาชิโอ หรือหากรู้สึกมีความอยากน้ำหวานหรือน้ำชงต่างๆ ก็สามารถชงโกโก้ร้อนหรือเย็น โดยผสมผงโกโก้แท้ไม่มีน้ำตาลลงในนมเหล่านี้ได้ เท่านี้ก็สามารถดับกระหาย ได้กินของอร่อยและมีประโยชน์