ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กุ้งยิง (Sty/Stye/Hordeolum)กุ้งยิง หมายถึง ตุ่มฝีเล็ก ๆ ที่เกิดที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ที่เปลือกตาบนและล่าง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. กุ้งยิงชนิดหัวผุด (external hordeolum/sty/stye) เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อ (gland of Moll) บริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจน ตรงบริเวณขอบตา
2. กุ้งยิงชนิดหลบใน (internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน (meibomian gland) บริเวณเยื่อบุเปลือกตา (เยื่อเมือกอ่อนสีชมพู มองเห็นเวลาปลิ้นเปลือกตา) หัวฝีจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา
บางครั้งต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตาอาจมีการอุดตันของรูเปิดเล็ก ๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวอยู่ภายในต่อม กลายเป็นตุ่มนูนแข็ง ไม่เจ็บปวดอะไร เรียกว่า ตาเป็นซิสต์ (chalazion) บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ เมื่อหายอักเสบ ตุ่มซิสต์ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม
สาเหตุ
กุ้งยิงเกิดจากต่อมเหงื่อหรือต่อมไขมันที่โคนขนตามีการอุดตัน และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส เป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นตุ่มฝีขึ้นมา มักเริ่มจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตา แล้วใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา ทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและอักเสบ
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย จะพบมากในเด็กอายุ 4-10 ปี
ปัจจัยที่เสริมให้เป็นกุ้งยิงได้ง่าย เช่น
ไม่รู้จักรักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้ผิวหนัง มือ และเสื้อผ้าสกปรก
มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเข เป็นต้น
สุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น
มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ เป็นต้น
อาการ
มีอาการปวดที่เปลือกตา มีลักษณะปวดตุบ ๆ เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง เวลาก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว จะปวดมากขึ้น และพบว่าบริเวณนั้นขึ้นเป็นตุ่มแข็ง แตะถูกเจ็บ ต่อมาค่อยๆ นุ่มลง บางครั้งมีหนองนูนเป่ง เห็นเป็นหัวขาว ๆ เหลือง ๆ โดยมากจะขึ้นเพียงตุ่มเดียว อาจเป็นที่เปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ น้อยคนอาจเกิดพร้อมกัน 2-3 ตุ่ม บางครั้งอาจมีอาการเปลือกตาบวม หรือมีขี้ตาไหล
ถ้ากุ้งยิงขึ้นที่บริเวณหางตามักจะมีอาการรุนแรงอาจทำให้หนังตาบวมแดงจนตาปิด
ถ้าปล่องทิ้งไว้ 4-5 วันต่อมา ตุ่มฝีมักจะแตกเองแล้วหัวฝีจะยุบลงและหายปวด ถ้าหนองระบายได้หมดก็จะยุบหายไปภายใน 1 สัปดาห์
ผู้ป่วยที่เคยเป็นกุ้งยิงมาครั้งหนึ่งแล้ว อาจจะมีอาการกำเริบเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นตรงจุดเดิม หรือย้ายที่ หรือสลับข้างไปมาได้
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นมาก อาจทำให้มีหนังตาอักเสบร่วมด้วย โดยทั่วไปมักจะแตกและยุบหายไปได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด นอกจากอาจทำให้เป็นแผลเป็น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
พบตุ่มฝีขนาดเล็กตรงบริเวณขอบตา ตรงกลางมีลักษณะสีขาว ๆ เหลือง ๆ รอบ ๆ นูนแดงและกดเจ็บ
ในรายที่เป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบใน จะพบตุ่มนูนอยู่ใต้เปลือกตา กดถูกเจ็บ เมื่อปลิ้นเปลือกตา จะเห็นหัวฝีซ่อนอยู่ภายใน
บางรายอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณหน้าหูโตและเจ็บ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. เมื่อเริ่มขึ้นเป็นตุ่มฝีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นตุ่มแข็ง ยังไม่กลัดหนอง ให้การรักษาดังนี้
ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัด ๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบาๆ ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที หลังประคบทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ
ถ้าปวด ให้ยาแก้ปวด
ถ้าหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโตร่วมด้วย ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน เป็นเวลา 5-7 วัน
2. ถ้าตุ่มฝีเป่งเห็นหัวหนองชัดเจน ควรสะกิดหรือผ่าระบายหนองออก แล้วให้กินยาปฏิชีวนะ
3. ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ซึ่งชวนสงสัยว่าอาจมีภาวะซ่อนเร้นอื่น ๆ เช่น เบาหวาน สายตาผิดปกติ เป็นต้น แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดที่เปลือกตา ตุ่มแข็งที่เปลือกตาและแตะถูกเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็น ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีอาการปวดมากขึ้น ตุ่มโตขึ้น หรือหนังตาบวมแดง
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง รวมทั้งกินอาหารที่มีคุณค่า พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน ออกกำลังกายเป็นประจำ
2. รักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้า
3. หลีกเลี่ยงการถูกฝุ่น ถูกลม แสงแดดจ้า ๆ และควันบุหรี่
4. หลีกเลี่ยงการใช้มือ หรือผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดตา หรือขยี้ตา
5. แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา
6. ควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไซนัสอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. ควรรักษากุ้งยิงเมื่อเริ่มขึ้นเป็นตุ่มใหม่ ๆ ด้วยการประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ และยาปฏิชีวนะชนิดหยอดหรือป้าย แต่ถ้าปล่อยจนกลัดหนอง การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะไม่ได้ผล อาจต้องสะกิดหรือผ่าระบายหนองออก
2. ในกรณีที่ตุ่มฝีแตกหรือหายอักเสบแล้ว แต่ยังคงมีตุ่มแข็งอยู่ต่อไปโดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด อาจเกิดจากตาเป็นซิสต์ (chalazion) ซึ่งส่วนมากจะพบที่เปลือกตาบน เวลาหลับตาจะสังเกตเห็นบริเวณนั้นนูนกว่าปกติ และถ้าคลำดูจะรู้สึกเคลื่อนไปมาได้เล็กน้อย โรคนี้ไม่มีอันตราย อาจเป็นอยู่ 2-3 เดือนแล้วยุบหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายอาจต้องผ่าหรือขูดออก